กาแล็กซีทางช้างเผือก
บริเวณใจกลางของกาแล็กซีทางช้างเผือก มีดาวฤกษ์รวมตัวกันอยู่อย่างหนาแน่นมีลักษณะโป่งตรงกลางเรียกว่า ดุมกาแล็กซี (bulge) หนาประมาณ 3,000 ปีแสง และมีนิวเคลียส (nucleus) อยู่ตรงกลาง บริเวณรอบ ๆ นิวเคลียสมีดาวฤกษ์เรียงตัวกันมีลักษณะเหมือนคาน ส่วนบริเวณที่อยู่ห่างจากศูนย์กลางของกาแล็กซีจะมีดาวฤกษ์กระจายตัวเป็นระนาบล้อมรอบนิวเคลียสและคานในลักษณะเป็นจาน (disk) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 100,000 ปีแสง มีความหนาโดยเฉลี่ยประมาณ 1,000 ปีแสง มีดาวฤกษ์ที่กระจายตัวต่อจากปลายคานมีลักษณะเหมือนแขนของกังหันวางตัวอยู่บนระนาบของจาน และในบริเวณที่ไกลออกไปจะมี ฮาโล (halo) หรือ กลดดาราจักร มีลักษณะเป็นทรงกลมมีขนาดกว้างใหญ่ไพศาลครอบคลุมกาแล็กซีทางช้างเผือก ดังนั้นกาแล็กซีทางข้างเผือกจึงมีรูปร่างเป็นกังหันมีคาน